วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

วันสำคัญทางศาสนา

วันสำคัญทางศาสนาพุทธ นิยมระบุตามปฏิทินจันทรคติ โดยปกติจะเป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งพุทธกาล หรือเมื่อถึงกำหนดต้องปฏิบัติประเพณีสำคัญตามธรรมเนียมในศาสนาพุทธ
       วันสำคัญทางศาสนาพุทธที่ชาวพุทธยึดถือมานาน มีดังนี้

วันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา (บาลีมาฆปูชาอักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1]"มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)[2]
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4[3][4]
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น[5] โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์[6] พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่นการตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์[7] ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา (บาลีวิสาขปูชาอังกฤษVesak) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[1] เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม[2]ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท[3]
วันวิสาขบูชานั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน
วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[4] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

วันอาสาฬหบูชา


วันอาสาฬหบูชา (บาลีอาสาฬหปูชาอังกฤษAsalha Puja) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ[2] ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์[3]
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[4] โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[5] กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา"[1] จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร[2]พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย[3]
นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง

การละเล่นของไทย

การละเล่นเด็กไทย เป็นการละเล่นของเด็กตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในปัจจุบันมักไม่ค่อยได้พบเห็นการละเล่นประเภทเหล่านี้กันบ่อยนัก เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
    ตัวอย่างการละเล่นสมัยก่อน


ม้าก้านกล้วย


ม้าก้านกล้วย เป็นของเล่นที่เด็กผู้ชายที่อยู่ในวัยซุกซนชื่นชอบมาก เด็กไทยทั่วไปจะรู้จักการเล่นม้าก้านกล้วยเป็นอย่างดี
วิธีทำม้าก้านกล้วย ทำง่าย เด็กๆสามารถทำเล่นเองได้ ถ้าอยากเล่นม้าก้านกล้วย เด็กๆก็จะถือมีดเข้าไปในสวนหรือที่ทั่วไปตามบริเวณบ้านที่มีต้นกล้วย เพราะหมู่บ้านคนไทยจะปลูกต้นกล้วยไว้แทบทุกหลังคาเรือน
เมื่อเลือกใบกล้วยที่มีความยาวพอเหมาะ ก็จะตัดใบกล้วยมา เอามีดเลาะเอาใบกล้วยออก เหลือไว้ที่ปลายใบเล็กน้อยเพื่อให้เป็นหางม้า ที่ก้านด้านโคนจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าข้อมือของเด็กๆ ด้านนี้เอง เด็กๆจะกะความยาวประมาณหนึ่งคืบ หรือสองคืบ แล้วเอามีดฝานแฉลบด้านข้างของก้านตรงที่กะไว้ฝานบางๆไปทางด้านโคนทั้งสองข้าง เพื่อให้เป็นหูม้า พอได้ขนาดหูยาวตามต้องการแล้วก็เอามือหักก้านกล้วยตรงที่กะจะให้เป็นโคนหูม้า ก้านกล้วยก็จะกลายเป็นรูปม้ามีหูม้าชันขึ้นทั้งสองข้าง เสร็จแล้วก็เอาแขนงไม้ใผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบเศษ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้ เสียบทะลุไปที่ก้าน ไม้ที่เสียบก็จะมีลักษณะเหมือนสายบังเหียนที่ผูกปากม้ากับคอม้า เสร็จแล้วก็ทำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็เสร็จ หาแขนงไม้ไผ่มา ๑ อัน ทำเป็นแส้ขี่ม้า ตอนนี้ก็พร้อมที่จะเล่นม้าก้านกล้วยได้แล้ว
การเล่นม้าก้านกล้วยก็แล้วแต่เด็กๆจะคิดเล่น เช่น เล่นควบม้าวิ่งแข่งกันหาคนชนะ ควบม้าจัดกระบวนทัพต่อสู้กัน หาอาวุธตามรั้วคือแขนงไม้ไผ่มาทำเป็นดาบรบกัน หรือจะวิ่งแข่งกันเป็นคู่ๆ หากไม่มีเพื่อนก็ควบเล่นคนเดียวที่ลานบ้านหรือเลี้ยวไปตามป่ากล้ายในสวนก็ได้

มอญซ่อนผ้า

ทุกคนนั่งล้อมวงช่วยกันร้องว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ" มอญจะถือผ้าเดินรอบวงแล้วแอบหย่อนผ้า ไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง หากผู้เล่นคนนั้นรู้ตัวก่อนก็จะหยิบผ้ามาไล่ตีมอญ แล้ววิ่งมานั่งที่เดิม แต่หากว่ามอญเดินกลับมาอีกรอบหนึ่ง แล้วผู้เล่นคนนั้นยังไม่รู้ตัว ก็จะถูกมอญเอาผ้าตีหลัง และต้องเล่นเป็นมอญแทน

ประเพณีไทย



สงกรานต์ (อังกฤษ: Water Festival ถอดเป็นอักษรละติน: Songkran, เขมร: សង្រ្កាន្ត, พม่า: , ลาว: ສົງການ) เป็นประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย[ต้องการอ้างอิง] สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปีปฏิทินในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483
สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี แต่ในปัจจุบันการเฉลิมฉลองในประเพณีสงกรานต์นั้นได้ละทิ้งความงดงามของประเพณีในสมัยโบราณไปเกือบหมดสิ้น คงไว้เพียงแต่ภาพลักษณ์แห่งความสนุกสนาน
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

วันสงกรานต์ 2556 ประเพณีสงกรานต์ 2013

ประเพณี (อังกฤษtradition) เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ ฯลฯ อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่างๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ หากประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ
        ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็น วิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม โดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล เป็นต้น

ตัวอย่างประเพณี

คำว่า “ ข้าวประดับดิน ” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 ได้ให้ ความหมายไว้ว่า “ ข้าวประดับดิน (ถิ่นอีสาน) ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดเดือน 9 ” ความหมายตามพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคนะวันออกเฉียงเหนือของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ที่ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายไว้ว่า

“ ข้าวประดับดิน ชื่อของบุญเดือน 9 บุญข้าวสากน้อยที่เรียกว่า : ชื่ออาหารคาวหวาน หมากพลูบุหรี่ที่จัดใส่กระทง วางไว้ตามพื้นดินหรือโคนต้นไม้เพื่อเป็นการเซ่นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ”


   เนื่องจากคนลาวและไทอีสานมีความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากลางคืนของเดือนเก้าดับ (วันแรมสิบสี่ค่ำเดือน เก้า) เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากัน จัดห่อข้าว ไว้ให้ญาติที่น้องที่ตายไปแล้ว ผู้ล่วงรับไปแล้ว

   ครั้งพระพุทธกาลบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์แล้ว ตายไปเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระ พุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แล้ว จึงได้ทรงอุทิศส่วนกุศลผลบุญไปให้บรรดาเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น เมื่อเปรตมิได้รับผลบุญ ถึง เวลากลางคืนพากันมาส่งเสียงน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชนิเวศน์ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้ยินเช่นนั้น พอรุ่งเช้าจึง เสด็จไปทูลถามสาเหตุจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแจ้งสาเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารททรงทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารนั้นทรง ทราบแล้ว จึงถวายทานและอุทิศส่วนกุศลซึ่งได้ทำให้เปรต ตั้งแต่นั้นมาบรรดาเปรตเหล่านั้นก็ไม่มารบกวนอีก เพราะเปรตที่เป็น ญาติได้รับผลบุญแล้ว ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ทำบุญข้าวประดับดินติต่อกันมา


   พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหารมีทั้งคาวหวาน แก่ เนื้อปลาเผือกมัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลูบุหรี่ไว้ให้พร้อมเพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสมเณรบ้าง ส่วน สำหรับอุทิศให้ญาติที่ตายใช้ห่อด้วยใบตองกล้ายคาวห่อหนึ่ง หวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่งเย็บหุ้มปลายแต่บางคนใส่ ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มีหรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้

   พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้าตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหารหมากพลู บุหรี่ที่ห่อหรือใส่กระทงแล้ว ไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลาวัดตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ ๆ ใน บริเวณวัด พร้อมพับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาของและผลบุญด้วย 

เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปตักบาตรและถวายทานแต่พระภิกษุสามเณร มีการ สมาทานศีลฟังเทศน์และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป

การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว หวานหมากพลูบุหรี่ไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญ ข้าวประดับดิน